==-- Windows Canon ---==
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.


ยินดีต้อนรับสู่บอร์ดคอมพิวเตอร์ เว็บนี้มีแต่ความรู้และของดี เพื่อร้านอินเตอร์เน็ทไทย
 
บ้านLatest imagesค้นหาสมัครสมาชิก(Register)เข้าสู่ระบบ(Log in)

 

 ท่านถาม เราตอบ ฉบับกับ กระทรวงวัฒนธรรม

Go down 
ผู้ตั้งข้อความ
fenlasia
Admin



จำนวนข้อความ : 120
Join date : 02/12/2009

ท่านถาม เราตอบ ฉบับกับ กระทรวงวัฒนธรรม Empty
ตั้งหัวข้อเรื่อง: ท่านถาม เราตอบ ฉบับกับ กระทรวงวัฒนธรรม   ท่านถาม เราตอบ ฉบับกับ กระทรวงวัฒนธรรม Icon_minitimeMon Jan 04, 2010 10:03 am

ท่านถาม-เราตอบ
แนวทางปฏิบัติตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑
………………………………………………..
เนื่องจากพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นพ.ร.บ. ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่
๒ มิถุนายน ที่ผ่านมา กอปรกับกฎกระทรวงหรืออนุบัญญัติที่เป็นรายละเอียดในการปฏิบัติยังไม่ประกาศออกมา ทำให้หลายฝ่ายเกิดความไม่แน่ใจในวิธีปฏิบัติตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ ดังนั้น สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สวช. จึงได้นำข้อข้องใจต่างๆมาทำเป็นแนวถาม-ตอบ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติไปก่อนที่กฎกระทรวงจะออกมา และหากมีสิ่งใดเพิ่มเติม หรือชัดเจนยิ่งขึ้น ก็จะได้นำมาเสนอต่อไป
อมรรัตน์ เทพกำปนาท ผอ.สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์
มีปัญหาถามมาได้ที่ media-oncc@ hotmail.com

๑.ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้กิจการใดบ้างที่ต้องมาขอใบอนุญาต
-กิจการที่ต้องมาขอใบอนุญาต ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีอยู่ ๔ ประเภท ได้แก่
ก.การประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ ตามมาตรา ๓๗ ซึ่งมีอยู่ ๒ แบบคือ โรงหนังทั่วๆไปที่เรา
รู้จัก เช่น โรงหนังในเครือเมเจอร์ ฯลฯ และอีกแบบคือ โรงหนังกลางแปลง
ข.การประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยนและจำหน่ายภาพยนตร์ ตามมาตรา ๓๘ หมายถึง ผู้ที่ให้
เช่า หรือขายหนัง ละคร การ์ตูน สารคดี ที่บรรจุลงในแผ่นวีซีดี ดีวีดี ซีดีรอม หรือวัสดุอื่นๆ
ค.การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ตามมาตรา ๕๓ หมายถึง ผู้ประกอบการร้านเกม หรือร้าน
คาราโอเกะ
ง.การประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยน และจำหน่ายวีดิทัศน์ ตามมาตรา ๕๔ หมายถึง ผู้ที่ให้
เช่า หรือขายแผ่นเกม หรือแผ่นคาราโอเกะ ที่บรรจุลงแผ่นวีซีดี ดีวีดี หรือวัสดุอื่นๆ
๒.การเช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ ต่างกันอย่างไร
-ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ให้คำจำกัดความของ “ภาพยนตร์” ว่า หมายถึง วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์
ส่วนคำว่า“วีดิทัศน์” หมายถึง วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้
เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
จากคำจำกัดความข้างต้น จึงทำให้ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามกฎหมายใหม่ต่างกันตรงเนื้อหา (content) มิใช่วัสดุที่ใช้บรรจุ กล่าวคือ ถ้าวีซีดี หรือดีวีดีนั้นๆบรรจุเนื้อเรื่องที่เป็นหนัง/ละคร/การ์ตูน เราเรียกว่าวีซีดี/ดีวีดีนั้นว่า “ภาพยนตร์” แต่ถ้าวีซีดี/ดีวีดีนั้นๆบรรจุเนื้อหาที่เป็นเกมการเล่นหรือคาราโอเกะ ก็จะถูกเรียกว่า “วีดิทัศน์” แทน ซึ่งต่างจากพ.ร.บ.ควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์เดิม ที่กำหนดด้วยลักษณะของวัสดุที่ใช้บรรจุเป็น ๖ ประเภทคือวีซีดี ดีวีดี เลเซอร์ดีส วีดีโอเกม ซีดีรอม และฮาร์ดิสก์
ดังนั้น การเช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ จึงต่างจากการเช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ ตรงเนื้อหาของสินค้าที่ให้เช่าหรือจำหน่าย มิใช่วัสดุที่บรรจุ
๓.ผู้ประกอบการโรงหนังกลางแปลง จะขอใบอนุญาตได้ที่ไหน
-การขอใบอนุญาตของผู้ประกอบการโรงหนังกลางแปลง ถ้าอยู่กรุงเทพ ให้มาขอได้ที่สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถ้าอยู่ต่างจังหวัด ให้ขอได้ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ในจังหวัดที่ผู้ประกอบการมีภูมิลำเนาหรือสถานประกอบการตั้งอยู่ โดยใบอนุญาตดังกล่าว แม้จะขอที่กรุงเทพหรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่จะมีลักษณะพิเศษต่างจากใบอนุญาตอื่น คือ ขอใบเดียวสามารถใช้แสดงได้ทั่วราชอาณาจักร
ใบอนุญาตประเภทอื่นๆก็เช่นเดียวกัน หากอยู่กรุงเทพฯให้มายื่นขอได้ที่สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ หากอยู่จังหวัดอื่นก็ขอตามจังหวัดที่ท่านอยู่หรือตามที่สถานประกอบการของท่านตั้งอยู่
๔.ในขณะที่ยังไม่มีกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียด และค่าธรรมเนียมของใบอนุญาตแต่ละประเภท ผู้ประกอบจะดำเนินการอย่างไร
-ผู้ประกอบการสามารถไปยื่นขอใบอนุญาตได้ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จะออกเป็น “ใบรับ” ให้ก่อน เมื่อกฎกระทรวงประกาศใช้เมื่อใด ก็จะทำหนังสือไปแจ้งให้ผู้ประกอบการนั้นๆมาทำใบอนุญาตอย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งนี้ คำร้อง ตลอดจนเอกสารและหลักฐานการยื่นขอใบอนุญาตว่าต้องมีอะไรบ้าง สามารถเข้าไปดู ได้ที่ www.culture.go.th ตรงส่วนที่เขียนว่า “สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์” ซึ่งจะมีแบบฟอร์มให้ Download พร้อมคำอธิบายเบื้องต้น และเมื่อกฎกระทรวงออกมาแล้ว หากต้องมีเอกสารใดเพิ่มเติมก็จะแจ้งให้นำมายื่นภายหลังได้
๕. “ใบรับ” ข้างต้น จะใช้แทนใบอนุญาตได้หรือไม่ และต้องเสียค่าธรรมเนียมเท่าใด และเมื่อไปทำแล้ว จะได้รับเมื่อใด
“ใบรับ” นี้ มิใช่ใบอนุญาต และมิใช่ใบแทนใบอนุญาต แต่สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงว่าท่านในฐานะผู้ประกอบการมีเจตจำนงที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้น หากมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจก็ใช้ใบรับนี้แสดงให้ดูได้ ว่าท่านไปยื่นขออนุญาตแล้ว ถือว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพียงแต่รอให้กฎกระทรวงประกาศใช้ก่อน จึงจะได้รับ “ใบอนุญาต” อย่างเป็นทางการต่อไป
และเนื่องจากขณะนี้ กฎกระทรวงต่างๆ รวมถึงกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น เมื่อท่านไปยื่นขอใบอนุญาต จึงยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น และเมื่อไปยื่นคำร้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารถูกต้องครบถ้วนในเบื้องต้นแล้ว ก็จะได้รับ “ใบรับ” ในทันที ไม่ต้องรอไปรับวันหลัง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทางสำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สวช.ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจเยี่ยมสถานประกอบการในเขตกรุงเทพมหานครแล้วจำนวนหนึ่ง และพบว่ามีหลายร้านที่กระทำผิดระเบียบ จึงได้ให้คำแนะนำในการปรับปรุงไปแล้ว ดังนั้น จึงขอให้ท่านผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพราะข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมาประกอบการพิจารณาในการอนุญาตครั้งใหม่นี้ ซึ่งเมื่อกฎกระทรวงออกแล้ว จะมีการออกไปตรวจซ้ำก่อนการอนุญาตด้วย หากพบว่าร้านใด ไม่ปรับปรุงหรือ ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ตรงตามที่ยื่นขอ ก็จะไม่ออกใบอนุญาตให้

๖.การยื่นขอใบอนุญาตตามพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ จะต้องมีใบรับรองซี ๔ หรือไม่
-การยื่นขอใบอนุญาตทุกประเภทตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการรับรองความประพฤติของผู้ประกอบการโดยข้าราชการระดับ ๔ หรือเทียบเท่า ที่เรียกกันว่า ใบรับรองซี ๔ อย่างที่แล้วมา ดังนั้น ท่านผู้ประกอบการจึงไม่ต้องใช้เอกสารดังกล่าวมาประกอบการขอ รวมถึงไม่ต้องมีการรับรองโดยสมาคม แต่ผู้ประกอบการต้องมายื่นขอใบอนุญาตเอง เนื่องจาก พ.ร.บ. ตามมาตรา ๓๙ (๔) ให้มีการตรวจสอบความประพฤติซึ่งเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นขอก่อนออกใบอนุญาต จึงจำเป็นต้องให้ผู้ประกอบการมายื่นด้วยตนเองและต้องพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อส่งตรวจสอบกับกองทะเบียนประวัติอาชญากรก่อนและเมื่อทราบผลการตรวจสอบเป็นอย่างไรแล้ว ทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะนำผลการตรวจสอบมาประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการต่อไป
๗.กรณีประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยน และจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล จะต้องมีใบทะเบียนพาณิชย์หรือไม่
-จำเป็นจะต้องมี เนื่องจากเป็นข้อกำหนดในพ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ ที่ให้ผู้ที่ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิตแผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ ระบบดิจิตอล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง จะต้องยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ (พ.ค. ๐๔๐๓) ซึ่งในใบทะเบียนพาณิชย์ดังกล่าวจะระบุสถานที่ตั้งของผู้ประกอบการ อันเป็นข้อกำหนดในพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯที่ว่า การออกใบอนุญาตจะต้องออกให้สำหรับสถานประกอบการแต่ละแห่งด้วย ซึ่งหมายความว่าประกอบการกี่แห่ง ก็ต้องมีใบอนุญาตเท่ากับจำนวนร้านที่เปิด มิใช่ทำใบอนุญาตใบเดียวแล้ว แล้วสำเนาไปใช้กับทุกที่ แม้จะเป็นเจ้าของเดียวกันก็ตาม เช่น 7-11 มีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน แต่ถ้าเปิดหลายสาขา ก็ต้องมีใบอนุญาตทุกสาขา เพราะถือเป็นที่ประกอบการคนละแห่งกัน
๘.หากเปิดร้านขายวีซีดี ดีวีดีภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ อยู่ในตลาดนัด หรือแผงลอยจะทำใบอนุญาตได้หรือไม่
-ทำได้ โดยให้ไปขอจดใบทะเบียนพาณิชย์ เพื่อแสดงที่ตั้งสถานประกอบการว่าอยู่ ณ ที่ใด สมมุติเช่น ร้านตั้งอยู่ในตลาดนัดวัดกลาง ตั้งอยู่หน้าร้านทองกิมกี่ ตั้งหน้าห้างโรบินสัน สาขารัชดาฯ หรือเป็นแผงลอยอยู่ในโซน D ของตลาดโบ๊เบ๊ เป็นต้น เมื่อระบุที่ตั้งและไปขอใบทะเบียนพาณิชย์ได้แล้ว ก็นำมาเป็นเอกสารประกอบการยื่น สถานที่ประกอบการแห่งหนึ่ง ก็จะมีใบทะเบียนพาณิชย์ใบหนึ่ง หรือหากขายหลายแห่ง ก็ต้องมีใบทะเบียนพาณิชย์แต่ละแห่งมาเป็นเอกสารประกอบการขออนุญาตด้วย ทั้งนี้เพราะพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ฉบับนี้ ได้กำหนดให้ออกใบอนุญาตให้กับสถานที่ประกอบการแต่ละแห่งๆละใบ เพื่อควบคุมให้มีการประกอบกิจการเป็นหลักแหล่ง มิใช่การเร่ขาย โดยหาสถานที่ที่แน่นอนไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น
๙.ใบอนุญาตแต่ละประเภทจะมีอายุกี่ปี และใครเป็นผู้ลงนามในใบอนุญาต
-ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ ใบอนุญาตทุกประเภทจะมีอายุ ๕ ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต และผู้ที่มีอำนาจในการลงนามในใบอนุญาตคือ นายทะเบียน หรือผู้ที่นายทะเบียนมอบหมายเท่านั้น โดยในกรุงเทพฯ เป็นนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็คือเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ส่วนภูมิภาค คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด หรือผู้ที่ท่านมอบหมาย
๑๐.เมื่อกฎกระทรวงประกาศใช้แล้ว หากผู้ที่เคยมีใบอนุญาตเดิมมาทำใบอนุญาตใหม่ จะถือว่าเป็นการต่ออายุใบอนุญาต หรือถือว่าต้องทำใหม่เลย
-ถือว่าผู้มายื่นขอใบอนุญาตต้องทำใบอนุญาตใหม่เลย เพราะใบอนุญาตใหม่จะมีอายุ ๕ ปี ซึ่งต่างจากของเดิมที่มีอายุ ๖ เดือน สำหรับประเภทฉาย และอายุ ๒ ปีสำหรับประเภทขาย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลใหม่ทั้งหมดให้ตรงกับสภาพความเป็นจริงด้วย
๑๑.ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจะมีราคาประมาณเท่าใด
-ขณะนี้กฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมของการประกอบกิจการต่างๆข้างต้น ยังไม่ประกาศออกมา แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจะไม่แพงไปกว่าอัตราที่ประกาศไว้ท้ายพ.ร.บ. เพียงแต่จะมีการเปลี่ยนลักษณะการเรียกเก็บไปบ้าง เช่น การเช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์จะคิดเป็นพื้นที่ใช้สอย ส่วนการประกอบการร้านวีดิทัศน์ จะคิดเป็นจำนวนเครื่องที่ให้บริการ ยกตัวอย่างเช่น (ตัวเลขข้างล่างนี้ เป็นการสมมุติเพื่อให้เห็นตัวอย่าง แต่ยังมิใช่ตัวเลขจริง)
• ประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ จะคิดเป็นแต่ละโรง เช่น โรงหนังเมเจอร์ มี ๗ โรงในสยามพารากอน ก็จะเสียค่าธรรมเนียมโรงละ ๕,๐๐๐ บาท /๕ ปี มี ๗ โรงเป็นเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท
• ส่วนโรงหนังกลางแปลงคิดเหมา ๒,๕๐๐ บาท/๕ ปี ต่อหนึ่งเจ้าของ
• ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ (ขายวีซีดี /ดีวีดีภาพยนตร์ หรือขายแผ่นเกม/แผ่นคาราโอเกะ) จะคิดเป็นพื้นที่ใช้สอย ยกตัวอย่างเช่น เปิดขายเป็นแผงลอย เป็นบูท หรือเป็นร้าน ที่มีขนาดไม่เกิน ๒๕ ตารางเมตร คิดค่าธรรมเนียม ๑,๐๐๐ บาท/๕ ปี ถ้าเกิน ๒๕ ตารางเมตรแต่ไม่เกิน ๕๐ ตารางเมตร คิดค่าธรรมเนียม ๒,๐๐๐ บาท/๕ ปี เป็นต้น
กรณี ประกอบกิจการแล้ว มีการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเดิม ก็ให้จ่ายเพิ่ม
เฉพาะส่วนที่ขยาย โดยมีเวลาเท่ากับที่เหลืออยู่ เช่น เปิดร้านครั้งแรกมีพื้นที่ ๑๐ ตาราง เมตร จ่ายค่าธรรมเนียมไป ๑,๐๐๐ บาท แล้วต่อมาเพิ่มพื้นที่เป็น ๒๕ ตารางเมตร แบบนี้ยังไม่ต้องเสียเพิ่ม เพราะยังอยู่ในอัตราเดิมที่เสียไว้แล้ว
แต่ถ้าเดิมมีพื้นที่ไม่เกิน ๒๕ ตารางเมตร เสียค่าธรรมเนียมไป ๑,๐๐๐ บาท ครั้นอีก ๓ ปี ต่อมา ขอเพิ่มพื้นที่เป็น ๔๐ ตารางเมตร แต่ยังไม่เกิน ๕๐ ตารางเมตร ซึ่งค่าธรรมเนียมกำหนดไว้ว่าต้องเสีย ๒,๐๐๐ บาท และเราจ่ายครั้งแรกไปแล้ว ๑,๐๐๐ บาท ดังนั้น จึงต้องเสียเพิ่มอีกเพียง ๑,๐๐๐ บาท แต่อายุใบอนุญาตจะเหลือเท่ากับ ๒ ปีที่เหลือ
• ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ (ร้านเกม/ร้านคาราโอเกะ) คิดเป็นจำนวนเครื่อง เช่น มีไม่เกิน ๒๐ เครื่อง/ร้าน ต้องเสียค่าธรรมเนียม ๑,๐๐๐ บาท /๕ ปี ถ้ามีเกิน ๒๐ เครื่องแต่ไม่เกิน ๕๐ เครื่อง ต้องเสีย ๒,๐๐๐ บาท/๕ ปี เป็นต้น
กรณีที่ประกอบกิจการแล้วมีการเพิ่มจำนวนเครื่องในเวลาต่อมา ก็ใช้หลักการ
เดียวกับการเพิ่มพื้นที่ กล่าวคือ ถ้าเพิ่มจำนวนเครื่องแล้ว หากยังไม่เกินอัตราที่กำหนด ก็
ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม แต่ถ้าเกินก็ให้เพิ่มเงินเท่ากับส่วนต่างนั้น โดยมีอายุใบอนุญาตเท่ากับ
เวลาที่เหลืออยู่

๑๒.ถ้าขายแผ่นซีดีเพลง หรือร้านอาหารที่มีตู้เพลงหยอดเหรียญ จะถือว่าเป็นร้านประกอบการตามพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่
ร้านหรือแผงลอยที่ขายแต่เทปหรือแผ่นซีดีเพลง ที่มีแต่เสียงร้อง และมิได้มีภาพประกอบแบบคาราโอเกะ และไม่มีการขายแผ่นดีวีดีหรือวีซีดีภาพยนตร์อื่นในร้าน ไม่ต้องมาขอใบอนุญาตตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะไม่อยู่ในความควบคุม เช่นเดียวกับตู้เพลงหยอดเหรียญ ซึ่งไม่ภาพเคลื่อนไหวประกอบแบบคาราโอเกะ ก็ไม่ต้องมาขอใบอนุญาต นอกจากนี้ คาราโอเกะแบบที่มีแต่ตัวหนังสือและเสียงในเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยไม่มีภาพอื่นประกอบ ก็ไม่ต้องมาขอใบอนุญาตเช่นเดียวกัน
๑๓.กรณีร้านวีดิทัศน์ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการ จะต้องมาขอใบอนุญาตหรือไม่
ร้านวีดิทัศน์ (ร้านเกมหรือคาราโอเกะ)ที่ตั้งอยู่ในสถานบริการ เช่นในบาร์ ในผับ ฯลฯ หากได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการแล้ว ไม่ต้องมาขอใบอนุญาตตามพ.ร.บ.ฉบับนี้อีก แต่ถ้าร้านวีดิทัศน์ที่มีลักษณะเป็นสถานบริการ แล้วมาขอใบอนุญาตเป็นแบบร้านวีดิทัศน์ทั่วไป ก็ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ และเงื่อนไขตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯแทน และหากตรวจพบภายหลังว่าทำผิดระเบียบ หรือเงื่อนไข ก็อาจต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ หรืออาจถูกดำเนินคดีเพราะให้บริการในลักษณะสถานบริการ แต่มาขอใบอนุญาตเป็นร้านวีดิทัศน์ ซึ่งถือว่าขอผิดประเภท
๑๔.นอกเหนือจากกิจการ ๔ ประเภทข้างต้นแล้ว พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯยังควบคุมกิจการอื่นใดอีกบ้าง
-นอกเหนือจากกิจการ ๔ ประเภทที่กล่าวมาแล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังควบคุมการเนื้อหาของภาพยนตร์ที่จะนำไปเช่า แลกเปลี่ยน และจำหน่ายอีกด้วย โดยตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ ฉบับเดิมจะเป็นระบบเซ็นเซอร์ แต่พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะกำหนดให้ตรวจเนื้อหาภาพยนตร์ด้วยระบบเรตติ้ง ซึ่งก็คือ การจำแนกเนื้อหาตามอายุผู้ชม จะมีด้วยกัน ๗ เรตหรือ ๗ ประเภทด้วยกัน (ดูตามมาตรา ๒๖)
อย่างไรก็ดี แม้ตามพ.ร.บ.ฉบับใหม่จะกำหนดเรตของหนังมาแล้วว่ามีด้วยกัน ๗ เรต แต่รายละเอียดของแต่ละเรตว่ามีลักษณะใดบ้าง ต้องกำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งขณะนี้ กฎกระทรวงที่ว่าได้ร่างเสร็จแล้วระดับหนึ่ง กำลังรอนำเสนอคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีการพิจารณาตามลำดับต่อไป ดังนั้น ในขณะนี้ (สิงหาคม ๕๑) จึงยังใช้การตรวจพิจารณาเป็นระบบเซ็นเซอร์อยู่ เพียงแต่คณะกรรมการผู้ตรวจพิจารณา จะเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรา ๑๖ ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งมีด้วยกัน ๗ ท่าน เรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์”
๑๕. ภาพยนตร์ใช้ระบบเรตติ้งในการตรวจพิจารณา แล้ว “วีดิทัศน์” ใช้ระบบเดียวกันหรือไม่
“วีดีทัศน์” ซึ่งตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะหมายถึงเกมและคาราโอเกะ นั้น จริงๆแล้วตามกฎหมายนี้ได้กำหนดให้ใช้การตรวจพิจารณาด้วยระบบเซ็นเซอร์ตามเดิม แต่จากการที่เกิดคดีเด็กมัธยมปลายได้ฆ่าคนขับแท็กซี่ โดยอ้างว่าเลียนแบบเกม GTA จนทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการจัดระบบเรตติ้งเกมไปด้วยนั้น ทางสวช.ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี และสามารถทำได้โดยไม่ขัดกับพ.ร.บ. เพราะโดยปกติ ที่ผ่านมา ทางสวช.ก็ให้บริษัทผู้ผลิตติดเรตเกมที่ส่งเข้ามาตรวจพิจารณาอยู่แล้ว เพียงแต่เรตที่ว่ายังมิใช่ของไทย และยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงได้เตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาหารือในการจัดทำเรตติ้งเกมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป

๑๖.หากอยู่ต่างจังหวัด และต้องการส่งภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์มาตรวจพิจารณาจะต้องทำอย่างไร
-เดิม ผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด หากต้องการนำภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์มาให้ส่วนกลาง คือ สวช.ตรวจพิจารณาให้ จะต้องมีหนังสือนำมาจากวัฒนธรรมจังหวัด พร้อมแนบเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดมาด้วย แต่ปัจจุบัน การตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่มีสวช.เป็นฝ่ายเลขานุการ ดังนั้น หากผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้ที่ต้องการส่งภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์มาให้เซ็นเซอร์ ก็ติดต่อมาที่สวช.ได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีหนังสือนำจากวัฒนธรรมจังหวัดอีก ส่วนเอกสารและหลักฐานก็ให้ใช้แบบเดิมไปก่อน (ดูคำตอบในข้อ ๒๖) หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐๒ ๒๔๗ ๐๐๒๘ ต่อ ๕๐๒๑ (ในวันเวลาราชการ) และตามกฎหมายฉบับนี้ เมื่อได้หมายเลขรหัส กท.แล้ว ก็ไม่ต้องไปขอหมายเลขรหัสจังหวัดซ้ำอีก เพียงแต่ในอนาคต หมายเลขรหัสกท. อาจเปลี่ยนชื่อย่อใหม่เป็น “ภย.” ที่ย่อมาจาก “ภาพยนตร์” หรือ “วท” ที่ย่อมาจาก “วีดิทัศน์” และอาจต้องปรับเปลี่ยนเครื่องหมายอนุญาต รวมถึงการติดเรตบนปกวัสดุที่บรรจุด้วย
๑๗.กรณีที่ประกอบการร้านวีดิทัศน์ (ร้านเกม/คาราโอเกะ) แล้วก็มีการวางจำหน่ายแผ่นวีซีดี ดีวีดีภาพยนตร์หรือเกมในสถานที่เดียวกันด้วย จะทำได้หรือไม่
-ลักษณะที่ว่านี้ เช่น เปิดร้านเกมอยู่ด้านใน แล้วขายแผ่นเกมหรือแผ่นวีซีดีหนังหน้าร้านไปด้วย แบบนี้สามารถทำได้ แต่ตามมาตรา ๖๐ ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ บังคับให้มีการแยกพื้นที่การให้บริการออกจากกัน ซึ่งการแยกนี้ อาจจะทำเป็นผนังหรือฉาก หรือวัสดุอื่นใดมากั้นให้เห็นว่า ไม่ปะปนกัน หากผู้ประกอบการไม่แยกพื้นที่ดังกล่าวให้เห็นชัดเจน ก็จะมีโทษทางปกครอง โดยอาจถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต ไปจนถึงเพิกถอนใบอนุญาต
๑๘.กรณีผู้ขอใบอนุญาตเป็นชื่อหนึ่ง เมื่อเลิกกิจการแล้ว สามารถโอนสิทธิ์ใบอนุญาตให้ผู้ที่มาเซ้งร้านต่อได้หรือไม่
-สิทธิ์ในใบอนุญาต เป็นสิทธิ์เฉพาะตัว หากผู้ประกอบกิจการเลิกประกอบกิจการนั้นแล้ว ก็ถือว่าใบอนุญาตนั้น ใช้ไม่ได้ต่อไป แม้จะเซ้งร้านให้อีกคนมาทำต่อ คนที่มาประกอบกิจการต่อ ก็ต้องมาขอใบอนุญาตใหม่ เพราะมิเช่นนั้นแล้ว หากเจ้าของใหม่ทำผิด คนที่ต้องรับผิด คือ ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของใบอนุญาตเดิม จึงไม่ควรให้ใครมาใช้สิทธิ์ของเรา เพราะจะกลายเป็นคนกระทำผิดไปโดยไม่รู้ตัว
๑๙.กรณีทำบ้านหรืออาคารพาณิชย์เป็นแบบ Hometheatreหรือ Minitheatre แล้วเปิดฉายภาพยนตร์จากแผ่นวีซีดี หรือดีวีดี โดยเก็บเงินค่าชม จะต้องมาทำใบอนุญาตโรงภาพยนตร์หรือไม่
-กรณีที่เก็บเงินค่าเข้าชม ถือว่าทำเป็นธุรกิจ ต้องมาขอใบอนุญาต เพียงแต่การยื่นเอกสารหลักฐานในการมาขอใบอนุญาตไม่ต้องมีใบอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสำหรับโรงภาพยนตร์เท่านั้น (ถ้าไม่เรียกเก็บเงินหรือไม่ทำเป็นธุรกิจ เช่น บังคับให้ทำบัตรสมาชิก ก็ไม่ต้องมาทำใบอนุญาต)
๒๐. ร้านอินเตอร์เน็ตทั่วไป จะเข้าข่ายพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่
ร้านอินเตอร์เน็ต หรืออินเตอร์เน็ตคาเฟ่ หากเป็นการเปิดให้บริการหาข้อมูลทั่วไป /ส่งอีเมล์ /Chat หรือหาข้อมูลจากเวบไซต์เพื่อทำหรือพิมพ์รายงาน โดยมิได้มีการเล่นเกมจากคอมพิวเตอร์ หรือเกมที่ดาวน์โหลดมาจากอินเตอร์เน็ต หรือเล่นเกมจากแผ่นแล้ว ก็จะยังไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯเช่นเดิม และไม่ต้องมาขอใบอนุญาต แต่หากเจ้าหน้าที่ไปตรวจพบภายหลังว่าร้านอินเตอร์เน็ตนั้นๆ มีการให้บริการเล่นเกม หรือมีลูกค้าเปิดเล่นเกม โดยผู้ประกอบการก็ปล่อยปละละเลยให้เล่น ผู้ประกอบการก็จะมีความผิดฐานเปิดบริการร้านเกม โดยไม่ขอใบอนุญาตทันที จะต้องถูกจับปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ร้านอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่มักจะมาขอใบอนุญาตไว้ก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าลูกค้าจะมีการโหลดเกมมาเล่นหรือไม่ มิฉะนั้นหากตรวจพบก็จะมีความผิดตามที่ระบุไว้ทันที
๒๑.โรงแรม อาคารชุด หรือสถานที่อื่นใดที่ให้บริการฉายภาพยนตร์โดยการจัดส่งไปทางสายไปยังห้องต่างๆของโรงแรมหรืออาคารชุด ซึ่งเคยต้องมาขอใบอนุญาตฉายและให้บริการเทป/วัสดุโทรทัศน์ จะยังต้องขอใบอนุญาตตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯหรือไม่ และขอเป็นประเภทใด
เนื่องจากพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมิได้ให้คำนิยามของโรงภาพยนตร์ ตามมาตรา ๔ (๓) เพิ่มเติม ดังนั้น ลักษณะการฉายตามสถานที่ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเคยมาขอเป็นประเภทฉายตามพ.ร.บ.เทปฯเดิม จึงยังไม่เข้าข่ายคำจำกัดความของ “โรงภาพยนตร์” ตามกฎหมายใหม่ และยังไม่ต้องมาขอใบอนุญาตแต่อย่างใด ยกเว้นจะจัดเป็นห้องฉายภาพยนตร์ต่างหาก แล้วนำดีวีดี/วีซีดีหนังมาฉายในโรงแรม/อาคารชุดนั้นๆ แล้วเรียกเก็บเงินค่าเข้าชมเพิ่มขึ้นต่างหากจากการบริการอื่นๆ เช่นนี้ ก็ต้องมาขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ เพียงแต่ตอนมายื่นขอใบอนุญาต ไม่ต้องแนบหลักฐานใบอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสำหรับโรงภาพยนตร์เท่านั้น
๒๒.หากจะสร้างหนังต่างประเทศในประเทศไทย ต้องขออนุญาตหรือไม่ และไปขอที่ใด
หากจะสร้างหนังต่างประเทศ หรือแม้แต่ถ่ายโฆษณาต่างประเทศในไทย ก็ต้องขออนุญาต โดยต้องไปขอที่สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตรงสนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน โทร. ๐๒ ๒๑๙ ๔๐๑๐-๗
๒๓.ถ้าจะสร้างหนังไทย ต้องขออนุญาตก่อนหรือไม่
ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ จะไม่มีการควบคุมก่อนการสร้าง พูดง่ายๆว่าไม่ต้องมาขออนุญาตก่อนการสร้าง แต่จะให้สร้างจนแล้วเสร็จแล้ว จึงค่อยนำมาจัดเรตก่อนออกฉายหรือขาย แต่หากผู้สร้างรายใด ไม่แน่ใจว่าหนังที่ตนจะสร้างนั้น จะมีลักษณะเข้าข่ายบ่อนทำลาย ขัดต่อศีลธรรมอันดี หรืออาจกระทบต่อความมั่นคงหรือเกียรติภูมิของประเทศไทยหรือไม่ (ตามมาตรา ๒๓) ก็อาจส่งบท และเค้าโครงเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตรวจก่อนสร้างได้ โดยจะต้องเสียค่าป่วยการในการตรวจ โดยคิดเป็นหน้าๆ (ค่าป่วยการนี้ จะออกเป็นระเบียบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่าจะคิดเท่าไร เช่น ๕๐ หน้าขึ้นไปคิดเหมาเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท เป็นต้น )
๒๔.ภาพยนตร์ทุกเรื่องก่อนนำออกฉายหรือขาย จะต้องมาผ่านการตรวจและขออนุญาตใช่หรือไม่
ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นหนังไทยหรือหนังต่างประเทศที่สั่งเข้ามา หากจะนำไปฉายในโรงหนัง หรือฉายตามที่ต่างๆ หรือจะทำเป็นหนังแผ่นวีซีดี ดีวีดีเพื่อการฉาย เช่า จำหน่ายทุกเรื่องจะต้องนำมาผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตามมาตรา ๒๕ ของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ ยกเว้นภาพยนตร์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๗ เท่านั้น ที่ไม่ต้องนำมาผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตให้ขายหรือฉายได้เลย เช่น ภาพยนตร์ข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น /ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อดูเป็นการส่วนตัว หรือภาพยนตร์ที่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐสร้างขึ้นเพื่อการเผยแพร่หรือส่งเสริมการดำเนินหน่วยงานนั้นๆ เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะทำภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่กิจกรรมของตำรวจ เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็สามารถนำไปเผยแพร่ได้เลย ไม่ต้องส่งมาตรวจพิจารณาที่สวช.
๒๕.ภาพยนตร์ที่จะนำมาฉายในเทศกาลระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะส่งออกไปร่วมงานเทศกาลในต่างประเทศ หรือส่งเข้ามาร่วมงานเทศกาลต่างประเทศในประเทศไทย จะต้องผ่านการตรวจพิจารณาหรือไม่ และต้องขออนุญาตจากผู้ใด
ภาพยนตร์ที่จะนำมาฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศไม่ว่าจะส่งออกหรือนำเข้ามาร่วมเทศกาล จะได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๒๗ (๔) ว่าไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณา แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นเทศกาลที่คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (ชุดที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) เป็นผู้กำหนดว่าจะมีเทศกาลใดบ้าง และจะให้หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ (จะเป็นกระทรวงวัฒนธรรมหรือกระทรวงท่องเที่ยวฯ) แต่ขณะนี้ยังไม่แน่ชัด เนื่องจากต้องให้คณะกรรมการฯชุดดังกล่าวได้ประกาศและกำหนดออกมาก่อน
๒๖. ถ้าจะยื่นขอตรวจพิจารณาภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ต้องมีเอกสารใดบ้าง และมีขั้นตอนอย่างไร
-ถ้าผู้ยื่นคำขอเป็น บุคคลธรรมดา จะต้องมีเอกสารดังนี้ สำเนาบัตรประชาชน / สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่จะให้ตรวจจำนวน ๒ ชุด ถ้าเป็นภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่จัดทำหรือสร้างในต่างประเทศ จะต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้สร้างหรือผู้จัดจำหน่าย และผู้ได้รับสิทธิ์ในภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มายื่นขอเป็นผู้เผยแพร่ภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์นั้นในประเทศไทย นอกจากนี้ยังต้องมีหลักฐานการซื้อภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ / หลักฐานการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย/หลักฐานแสดงการนำเข้าของกรมศุลกากร เช่น ใบเสร็จศุลกากร และใบขนสินค้า เป็นต้น
กรณีถ้าผู้ยื่นเป็น นิติบุคคล เอกสารใช้เหมือนกับบุคคลธรรมดา แต่ให้เพิ่มสำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนของนิติบุคคล และหนังสือรับรองจากนายทะเบียนของนิติบุคคลนั้นๆด้วย
จากนั้นก็นำเอกสาร และภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ทั้งหมดมายื่นที่สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเอกสารว่าถูกต้องแล้ว ก็จะรับไว้ และส่งให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตรวจพิจารณา และเมื่อผ่านแล้ว ก็จะออกหมายเลขรหัสกท.ให้ และผู้ยื่นฯก็สามารถนำไปทำสำเนาได้ตามจำนวนที่ต้องการ โดยทำสติ๊กเกอร์มาประทับตรา “อนุญาต” บนสลากที่จะติดบนภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์นั้นๆต่อไป
อนึ่ง ในกรณีที่เป็นเกมซึ่งดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ต และนำมาบรรจุในวีซีดี/ดีวีดี/ซีดีรอม หรือวัสดุอื่นใด จะต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงว่าทางเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือผู้จัด/ผลิตยินยอมให้สำเนา คัดลอกเพื่อไปจำหน่ายหรือเผยแพร่ได้ในรูปแบบต่างๆ หรืออย่างน้อยในรูปแบบที่ขอมาได้ เช่น ยินยอมให้จัดทำเป็นดีวีดี ผู้ประกอบการก็ต้องทำเป็นดีวีดี แต่ถ้าให้ทำเป็นหนังสือ แล้วผู้ประกอบการที่มายื่นขอจัดทำเป็นวีซีดีแทน เช่นนี้ก็ถือว่าไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ดำเนินการให้ เพราะอาจเกิดกรณีฟ้องร้องกันทีหลังได้
ขึ้นไปข้างบน Go down
fenlasia
Admin



จำนวนข้อความ : 120
Join date : 02/12/2009

ท่านถาม เราตอบ ฉบับกับ กระทรวงวัฒนธรรม Empty
ตั้งหัวข้อเรื่อง: Re: ท่านถาม เราตอบ ฉบับกับ กระทรวงวัฒนธรรม   ท่านถาม เราตอบ ฉบับกับ กระทรวงวัฒนธรรม Icon_minitimeMon Jan 04, 2010 10:04 am

๒๗.ทำไมจึงปล่อยให้ผู้ขายวีซีดี ดีวีดีของปลอมมาทำใบอนุญาตขายได้
-การขายวีซีดี/ดีวีดี ที่เรียกว่าการประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ ซึ่งต้องมาทำใบอนุญาตให้ขายได้ตามมาตรา ๓๘ หรือ ๕๔ นั้น เมื่อผู้ประกอบการมายื่นแจ้งความจำนงพร้อมเอกสารหลักฐานว่าขอประกอบอาชีพดังกล่าว เขามิได้แจ้งว่าเขาขายของปลอม หรือของลอกเลียนแบบ และแม้ทางราชการจะออกไปตรวจร้านของเขาก่อนออกใบอนุญาต ก็เชื่อว่าจะไม่พบสิ่งที่ผิดกฎหมายในเบื้องต้น ดังนั้น เราจึงออกใบอนุญาตให้ แต่เมื่อออกใบอนุญาตไปแล้ว หากไปตรวจพบภายหลังว่า ผู้ประกอบกิจการนั้น ขายของปลอม หรือของที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณา (ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์) ผู้ประกอบการก็จะมีความผิดในเรื่องฉาย เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณา อันเป็นคนละประเด็นกับการมาขอใบอนุญาต สรุปคือ การที่ทางราชการออกใบอนุญาตให้ ก็เพื่อให้ไปขายของได้ แต่มิใช่ออกให้ เพื่อไปขายของผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าผู้ประกอบการจงใจมาขอเพื่อไปทำผิด ก็ต้องว่ากันเป็นกรณีๆไป ว่าจะต้องรับโทษความผิดอย่างไร และในเรื่องใดบ้าง
๒๘.หากประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดและโทษอย่างไร
-หากประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ หรือประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยน และจำหน่ายภาพยนตร์
โดยไม่มีใบอนุญาต หรือพูดง่ายๆ ว่า เปิดโรงหนัง หรือขายแผ่นวีซีดี/ดีวีดีภาพยนตร์แล้วไม่มาขออนุญาต จะมีความผิดตามมาตรา ๗๙ ต้องโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และยังปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน
การขายแผ่นวีซีดี ดีวีดีภาพยนตร์ดังกล่าว รวมไปถึงพวกที่ขายตามแผงลอย บูทในห้างสรรพสินค้า วางขายตามทางเดิน รวมไปถึงตามตลาดนัดต่างๆด้วย
-หากเปิดร้านวีดิทัศน์ (ร้านเกม/ร้านคาราโอเกะ) หรือประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ (ขายแผ่นเกม/แผ่นคาราโอเกะ) โดยไม่ได้รับอนุญาต จะผิดตามมาตรา ๘๒ จะมีโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน
๒๙.ถ้ามีใบอนุญาตแล้ว ไม่ติดไว้ในที่เปิดเผยจะมีความผิดประการใด
-หากมีใบอนุญาตแล้ว ไม่ว่าประเภทไหน แต่ไม่ติดในที่เปิดเผยและเห็นได้ชัดเจน ขั้นแรกเจ้าหน้าที่จะสั่งให้แก้ไขปรับปรุงก่อน โดยกำหนดเวลาให้ หากไม่ทำตาม นายทะเบียนก็มีอำนาจสั่งปรับทางปกครองได้ในอัตราไม่เกินวันละสองหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน และหากฝ่าฝืนโดยจงใจอีก ก็จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตแล้วแต่กรณี
เนื่องจากขณะนี้ ร้านส่วนใหญ่จะมีแต่ “ใบรับ” ดังนั้น อาจนำ “ใบรับ” ใส่กรอบชั่วคราว และติดไว้ให้เห็นชัดภายในร้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจมองเห็นได้ อย่าไปใส่ไว้ในลิ้นชักหรือเก็บไว้ในที่ตรวจสอบได้ยาก และควรจะเป็นใบจริงให้ตรวจด้วย มิใช่ใบสำเนา
๓๐.ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล ผู้ใดจะต้องรับโทษความผิดนั้นๆ
-ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล ผู้ต้องรับโทษคือ นิติบุคคลนั้นๆ รวมไปถึงตัวกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้นๆด้วย เรียกว่าโดนทั้งตัวบริษัทและตัวคนผู้รับผิดชอบ ยกเว้นว่าคนที่รับผิดชอบจะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้กระทำผิดด้วย

๓๑.กฎกระทรวงเกี่ยวกับร้านวีดิทัศน์(ร้านเกม) จะกำหนดวัน เวลา และเงื่อนไขในการเปิด-ปิดร้านไว้หรือไม่
-แน่นอน เพราะมีเขียนไว้ในมาตรา ๕๙ ว่าการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ จะต้องกระทำในวัน เวลา และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และยังเขียนอีกว่า เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน กฎกระทรวงที่ว่ายังสามารถกำหนดวัน เวลาการใช้บริการของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีได้ด้วย ซึ่งก็หมายความว่า เมื่อกฎกระทรวงเกี่ยวกับการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ออกแล้ว จะมีการกำหนดวัน เวลา เปิด-ปิด สำหรับประชาชนผู้ใช้บริการทั่วไป และวัน เวลาเปิด-ปิดสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีอย่างชัดเจน และใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
๓๒.กรณีได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์แล้ว ยังต้องขอใบอนุญาตประเภทฉายเหมือนเดิมอีกหรือไม่
-ตามพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ หากผู้ประกอบการเช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ได้ขอใบอนุญาตเป็นประเภทขายแล้ว สามารถให้บริการฉายได้โดยอัตโนมัติ และไม่ต้องมาขอใบอนุญาตฉายอีก เพราะในพ.ร.บ.มิได้มีบทบัญญัติไว้ ดังนั้น ร้านค้า หรือสถานที่อื่นใด นอกเหนือไปจากโรงภาพยนตร์ตามคำจำกัดความในมาตรา ๔ ของพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว หากฉายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ก็ไม่ต้องขอใบอนุญาต เช่น ร้านแมงป่อง ขอใบอนุญาตขายแล้ว(ตามมาตรา ๓๘แล้ว) ก็สามารถฉายหนังเพื่อโฆษณาให้คนซื้อหนังเรื่องนั้นๆหรือเรื่องอื่นๆได้ในร้าน โดยไม่ต้องขอใบฉายอีกใบ หรือการฉายภาพยนตร์ตามสถานีรถไฟฟ้า บนรถไฟฟ้า แบบนี้ก็ไม่ต้องมาขอใบอนุญาตฉายเช่นกัน
๓๓.จะทราบได้อย่างไร ว่าวีซีดี/ดีวีดีภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์นั้นๆ ผ่านการตรวจพิจารณาแล้ว
-ภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ซึ่งบรรจุอยู่ในวีซีดี /ดีวีดี หรือวัสดุอื่นใด หากผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แล้ว จะมีสติ๊กเกอร์สี่เหลี่ยม ส่วนใหญ่จะเป็นสีขาวติดอยู่บนปกดีวีดี/วีซีดีด้านหลัง ซึ่งบนสติ๊กเกอร์นี้ จะมีคำว่า “อนุญาต” และลายเซ็นเจ้าหน้าที่อยู่ในเครื่องหมายรูปวงรี พร้อมทั้งหมายเลขรหัสกท. ชื่อหนัง และลายเซ็นผู้ที่บริษัทนั้นๆอนุญาตให้อัดสำเนาจำหน่ายได้ ข้อสำคัญ เครื่องหมายวงรีพร้อมลายเซ็นเจ้าหน้าที่บนสติ๊กเกอร์ดังกล่าวนี้ จะเป็นการพิมพ์ด้วยตรายาง มิใช่การสำเนาหรือซีร็อก ดังนั้น หากสติ๊กเกอร์ใดๆที่ติดบนปกเทป เป็นลักษณะซีร็อกหรือสำเนาด้วยเครื่องถ่ายเอกสาร สติ๊กเกอร์นั้นเป็นของปลอม แม้หมายเลขรหัส และชื่อหนังจะตรงกับที่ขอมาก็ตาม นอกจากลักษณะดังกล่าวแล้ว หากวีซีดี /ดีวีดี/ซีดีรอมใดไม่มีสติ๊กเกอร์ติดเลย ก็แสดงว่า วีซีดี/ดีวีดีภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์นั้นๆไม่ผ่านการตรวจพิจารณาเลยเช่นกัน ดังนั้น ผู้จะซื้อไปจำหน่าย จึงควรระมัดระวัง มิฉะนั้น ท่านอาจถูกจับกุมฐานจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจตามกฎหมาย และยังเป็นเทปเถื่อนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยท่านไม่รู้ตัว
อนึ่ง ต่อไปอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกอบการ พิมพ์เครื่องหมายอนุญาตที่เป็นวงรีจากโรงพิมพ์เลยก็ได้ เพื่อให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งหากมีเปลี่ยนแปลงเมื่อใด สวช.ก็จะแจ้งให้ทราบต่อไป

๓๔. วีซีดี ดีวีดี หรือเทปที่ขายตามชายแดนไทยหรือในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น หนังฝรั่ง หนังจีน เพลงคาราโอเกะจีน ถ้าซื้อมาจำหน่ายจะผิดหรือไม่
-ในกรณีที่ซื้อตามชายแดนไทย และเทปนั้นๆมีสติ๊กเกอร์ติดตามลักษณะที่ว่าไว้ตามข้างต้น ก็สามารถขายได้ ถือว่าเป็นการขายวีซีดี/ดีวีดีที่ถูกต้องตามกฎหมาย (แต่ต้องดูด้วยว่ามิใช่ทำแผ่นและสติ๊กเกอร์ปลอม) แต่กรณีที่ซื้อหนังหรือเพลงคาราโอเกะต่างประเทศจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือไปหิ้วซื้อมาจากเมืองนอก ถ้าซื้อไปดูเป็นส่วนตัว ย่อมทำได้ แต่หากซื้อมาเพื่อขายต่อ หรือทำเป็นธุรกิจโดยเทปนั้นๆยังไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามกฎหมายไทย (คือไม่มีสติ๊กเกอร์ติดอยู่เพื่อแสดงว่าผ่านการเซ็นเซอร์แล้ว) ผู้ขายย่อมมีความผิดตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ. ๒๕๕๑ จะมาอ้างว่า ไม่ทราบ หรืออ้างว่า เป็นการซื้อจากเมืองนอกมาขาย จึงไม่มีสติ๊กเกอร์ และไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณา ไม่ได้ เพราะกฎหมายระบุไว้ว่า ภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ทุกชนิด ถ้าขาย/ฉายในไทยต้องผ่านการตรวจทั้งสิ้น ยกเว้นจะเป็นภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้น (เช่น ทำเพื่อดูเป็นการส่วนตัว เป็นต้น) และการที่นำเทปเหล่านี้มาขายโดยพลการเช่นนี้ เท่ากับของที่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น เพราะผู้ผลิตหรือผู้แทนจัดจำหน่าย เขามิได้ให้สิทธิ์ท่านขายผลงานหรือเทปของเขาในประเทศไทย ท่านจะมาเอาประโยชน์ด้วยการขาย และไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่มาเผยแพร่ไม่ได้ และหากภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นๆมีผู้แทนจัดจำหน่ายในไทย บริษัทผู้แทนฯก็สามารถฟ้องร้องท่านได้ว่าขายของละเมิดลิขสิทธิ์ของเขา เช่นเดียวกับกรณีก๊อปปี้เทปเขามาขาย
๓๕.เมื่อใดที่โรงหนังจะต้องติดเรตหนังไว้บริเวณโรงหนัง
-เมื่อกฎกระทรวงตามมาตรา ๒๗ ได้ประกาศออกใช้ และเมื่อเจ้าของหนังนำหนังมาตรวจพิจารณา และได้เรตไปแล้ว จะต้องติดเรตที่ได้นี้ ให้เห็นชัดเจนในบริเวณโรงหนัง ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปชมจะเห็นได้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ผู้ดูที่มีอายุไม่เหมาะสมเข้าไปชมหนังที่ไม่เหมาะกับอายุตน
........................................
ขึ้นไปข้างบน Go down
 
ท่านถาม เราตอบ ฉบับกับ กระทรวงวัฒนธรรม
ขึ้นไปข้างบน 
หน้า 1 จาก 1

Permissions in this forum:คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
==-- Windows Canon ---== :: Internet Cafe~ถาม-ตอบ พูดคุย บทความ กฏหมาย ลิขสิทธิ์ ข้อควรปฏิบัติ-
ไปที่: